วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สำนวน สุภาษิตไทย ที่เรามักจะได้ยินและเห็นกันอยู่บ่อย ๆ


หมวด ก.
กงเกวียนกำเกวียน  - เวรสนองเวร กรรมสนองกรรม
กบในกะลาครอบ - ผู้มีประสบการณ์และความรู้น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก
กรวดน้ำคว่ำกะลา, กรวดน้ำคว่ำขัน ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
กระเชอก้นรั่ว สุรุ่ยสุร่าย, ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ, ไม่ประหยัด
กระดังงาลนไฟ ผู้หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติ และเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าผู้หญิงที่ยังไม่เคยแต่งงาน
กระดี่ได้น้ำ อาการแสดงความดีอกดีใจ ตื่นเต้นจนตัวสั่น
กระต่ายขาเดียว ยืนกรานไม่ยอมรับ
กระต่ายตื่นตูม –  คนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่ายโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้ก่อน
กระต่ายหมายจันทร์ ผู้ชายหมายปองผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า
กระโถนท้องพระโรง ผู้ที่ใคร ๆ ก็ใช้ได้ หรือผู้ที่ใคร ๆ ก็พากันรุมใช้อยู่คนเดียว
กวนน้ำให้ขุ่น ทำเรื่องราวที่สงบอยู่แล้วให้เกิดวุ่นวายขึ้นมา
กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ ลักษณะของการทำงานที่มีความลังเล ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ทันท่วงที เมื่อได้อย่างหนึ่ง แต่ต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป
กาคาบพริก ลักษณะที่คนผิวดำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดง
กำแพงมีหูประตูมีช่อง, กำแพงมีหูประตูมีตา การที่จะพูดหรือทำอะไรให้ระมัดระวัง แม้จะเป็นความลับเพียงไร ก็อาจมีคนล่วงรู้ได้
กินที่ลับไขที่แจ้ง เปิดเผยเรื่องที่ทำกันในที่ลับ
กินน้ำใต้ศอก จำต้องยอมเป็นรองเขา, ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่า (มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้แก่เมียหลวง)
กินบนเรือนขี้บนหลังคา เนรคุณ
กินปูนร้อนท้อง ทำอาการมีพิรุธขึ้นเอง, แสดงอาการเดือดร้อนขึ้นเอง
เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง เกลียดตัวเขา แต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา
เกลือจิ้มเกลือ ไม่ยอมเสียเปรียบกัน, แก้เผ็ดให้สาสมกัน
เกลือเป็นหนอน ญาติมิตร สามีภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือคนในบ้านที่คิดทรยศ,หนอนบ่อนไส้
เกี่ยวแฝกมุงป่า ทำอะไรเกินกำลังความสามารถของตัว
แกว่งเท้าหาเสี้ยน รนหาเรื่องเดือดร้อน
ใกล้เกลือกินด่าง มองข้ามหรือไม่รู้ค่าของดีที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตน กลับไปแสวงหาสิ่งอื่นที่ด้อยกว่า
ไก่แก่แม่ปลาช่อน หญิงค่อนข้างมีอายุที่มีมารยาและเล่ห์เหลี่ยมมาก และมีกิริยาจัดจ้าน
ไกลปืนเที่ยง ไม่รู้อะไรเพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ
ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน












สำนวน สุภาษิตไทย ที่เรามักจะได้ยินและเห็นกันอยู่บ่อย ๆ


หมวด ง. , จ.
งมเข็มในมหาสมุทร ทำกิจที่สำเร็จได้ยาก
งอมืองอตีน เกียจคร้าน, ไม่สนใจขวนขวายการทำงาน
เงยหน้าอ้าปาก มีฐานะดีขึ้นกว่าเดิมพอทัดเทียมเพื่อน
จับแพะชนแกะ ทำอย่างขอไปที ไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเข้าแทน เพื่อให้ลุล่วงไป
จับเสือมือเปล่า แสวงหาประโยชน์โดยตัวเองไม่ต้องลงทุน
จุดไต้ตำตอ พูดหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังเอิญไปโดนเจ้าตัวเข้า โดยที่ผู้พูดไม่รู้ตัว

หมวด ช. , ซ.
ชนักติดหลัง ความชั่วหรือความผิดที่ยังติดตัวอยู่
ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน ชักนำศัตรูเข้าบ้าน
ชักใบให้เรือเสีย พูดหรือทำขวาง ๆ ให้การสนทนาหรือการงานเขวออกนอกเรื่องไป
ชักแม่น้ำทั้งห้า พูดจาหว่านล้อมยกยอบุญคุณเพื่อขอสิ่งที่ประสงค์
ชักหน้าไม่ถึงหลัง มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย
ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม, ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำแล้วจะสำเร็จผล
ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิดไม่มิด ความชั่วหรือความผิดร้ายแรงที่คนรู้ทั่วกันแล้ว จะปิดอย่างไรก็ไม่มิด
ชิงสุกก่อนห่าม ทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัน หรือยังไม่ถึงเวลา (มักหมายถึงการลักลอบได้เสียกันก่อนแต่งงาน)
ชุบมือเปิบ ฉวยประโยชน์จากคนอื่นโดยไม่ได้ลงทุนลงแรง
ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ, ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว ซื้อของไม่คำนึงถึงกาลเวลาย่อมได้ของแพง, ทำอะไรไม่เหมาะกับกาลเวลาย่อมได้รับความเดือดร้อน

สำนวน สุภาษิตไทย ที่เรามักจะได้ยินและเห็นกันอยู่บ่อย ๆ


หมวด ค. , ฆ.
คดในข้อ งอในกระดูก – มีสันดานคดโกง
คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ คนรักมีน้อย คนชังมีมาก
คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ คนรักมีน้อย คนชังมีมาก
คมในฝัก มีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดงออกมาให้เห็น
คว้าน้ำเหลว ไม่ได้ผลตามต้องการ
ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด มีความรู้มาก แต่ไม่รู้จักเอาความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์
คางคกขึ้นวอ คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดิบได้ดีก็มักแสดงกิริยาอวดดี ลืมตัว
โคแก่ชอบกินหญ้าอ่อน ชายสูงอายุที่ชอบผู้หญิงรุ่นสาว
ฆ่าความอย่าเสียดายพริก ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สำนวน สุภาษิตไทย ที่เรามักจะได้ยินและเห็นกันอยู่บ่อย ๆ


หมวด ข.
ขนทรายเข้าวัด หาประโยชน์ให้ส่วนรวม
ขนมผสมน้ำยา พอดีกัน จะว่าข้างไหนดีกว่ากันไม่ได้
ขนหน้าแข้งไม่ร่วง ไม่กระทบกระเทือนถึงเดือดร้อน
ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า บังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามที่ตนต้องการ
ขว้างงูไม่พ้นคอ ทำอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตัวเอง
ขวานผ่าซาก โผงผางไม่เกรงใจใคร
ขายผ้าเอาหน้ารอด ยอมสละสิ่งสำคัญเพื่อรักษาชื่อเสียงไว้
ขิงก็รา ข่าก็แรง ต่างไม่ยอมลดละกัน
ขี่ช้างจับตั๊กแตน ลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย
เข็นครกขึ้นภูเขา ทำงานที่ยากลำบากอย่างยิ่ง โดยต้องใช้ความพยายามและอดทนอย่างมาก
เข้าตามตรอกออกตามประตู ทำตามธรรมเนียมประเพณี
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม ประพฤติตนให้เหมาะสมกับกาละเทศะ
เขียนด้วยมือลบด้วยตีน ยกย่องแล้วกลับทำลายในภายหลัง
เขียนเสือให้วัวกลัว ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญหรือเกรงขาม
ไข่ในหิน ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมอย่างยิ่ง

สำนวนไทย...รู้ไว้ ไม่ล้าสมัย

        เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยเป็นพวกเจ้าบทเจ้ากลอน จะพูดจาหรือสั่งสอนใคร ก็มักจะอ้างเอาสำนวน สุภาษิต หรือคำพังเพยที่พูดต่อ ๆ กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณมาเปรียบเทียบเปรียบเปรยเสมอ ซึ่งคำเหล่านี้มักจะเป็นคำที่คล้องจองกัน ทำให้จดจำได้ง่ายและเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงได้ตายตัว สลับที่หรือตัดตอนไม่ได้ มีความหมายเชิงเปรียบเทียบลึกซึ้งโดยครอบคลุมไปถึง ภาษิต สุภาษิต และคำพังเพย โดยสามารถแยกได้เป็น...


สำนวนที่มีเสียงสัมผัส
- เรียง 4 คำ ต้นร้ายปลายดี น้ำใสใจจริง
- เรียง 6 คำ ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน
- เรียง 8 คำ รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
- เรียง 10 คำ คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ
- เรียง 12 คำ ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน มีเงินเขานับว่าน้อง มีทองเขานับว่าพี่

สำนวนที่ไม่มีเสียงสัมผัส
- เรียง 2 คำ ชิมลาง ขบเผาะ
- เรียง 3 คำ ถ่านไฟเก่า คมในฝัก
- เรียง 5 คำ น้ำขึ้นให้รีบตัก ขนหน้าแข้งไม่ร่วง
- เรียง 6 คำ ถ่มน้ำลายแล้วกลืนกิน ยกภูเขาออกจากอก
ที่มาของสำนวน
1 สำนวนที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่
ข้าวเหลือเกลืออิ่ม ทรัพย์ในดินสินในน้ำ บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน
2 สำนวนเกี่ยวกับพืช
ขิงก็ราข่าก็แรง มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก ใบไม้ร่วงจะออกช่อ
3 สำนวนเกี่ยวกับสัตว์
โง่เง่าเต่าตุ่น ตีปลาหน้าไซ นกมีหูหนูมีปีก
4 สำนวนเกี่ยวกับนิทาน
กิ้งก่าได้ทอง กระต่ายตื่นตูม เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ชาวนากับงูเห่า

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555


กาพย์ยานี๑๑
บท บทหนึ่งมี ๔ วรรค
     วรรคที่หนึ่งเรียกวรรคสดับ
วรรคที่สองเรียกวรรครับ
     วรรคที่สามเรียกวรรครอง
วรรคที่สี่เรียกวรรคส่ง
แบ่งเป็นวรรคแรก ๕ คำ วรรคหลัง ๖ คำ รวม ๑๑ คำ จึงเรียก ยานี ๑๑
สัมผัส
ก. สัมผัสนอก หรือสัมผัสระหว่างวรรค อันเป็นสัมผัสบังคับ มีดังนี้
คำสุดท้ายของวรรคแรกวรรคที่หนึ่ง (วรรคสดับ)   สัมผัสกับคำที่สามของวรรคหลัง วรรคที่สอง (วรรครับ)
คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม (วรรครอง)
(
ดูแผนผังและยกตัวอย่าง)
ถ้าจะแต่งบทต่อไปต้องมีสัมผัสระหว่างบท
สัมผัสระหว่างบท ของกาพย์ยานี คือ
คำสุดท้ายของวรรคสี่ (วรรคส่ง) เป็นคำส่งสัมผัสบังคับให้บทต่อไปต้องรับสัมผัสที่คำ
สุดท้ายของวรรคสอง (วรรครับ) ดังตัวอย่าง
ตัวอย่างกาพย์ยานี๑๑
          พฤษภกาสร            อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง               สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย                มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี               ประดับไว้ในโลกา 





วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความรู้ด้านการแต่งกลอนฉันทลักษณ์ประเภทต่างๆ เพื่ออนุรักษ์ภาษาไทย

กลอนสุภาพ
        ป็นกลอนประเภทหนึ่ง ซึ่งลักษณะคำประพันธ์ของภาษาไทย ที่เรียบเรียงเข้าเป็นคณะ ใช้ถ้อยคำและทำนองเรียบๆ ซึ่งนับได้ว่ากลอนสุภาพเป็นกลอนหลักของกลอนทั้งหมด เพราะเป็นพื้นฐานของกลอนหลายชนิด หากเข้าใจกลอนสุภาพ ก็สามารถเข้าใจกลอนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น คำประพันธ์ ที่ต่อท้ายว่า “สุภาพ” นับว่าเป็นคำประพันธ์ที่แสดงลักษณะเป็นไทยแท้ ด้วยมีข้อบังคับในเรื่อง “รูปวรรณยุกต์” ในกลอนสุภาพนอกจากมีบังคับเสียงสระเป็นแบบแผนเช่นกลอนปกติแล้ว ยังบังคับรูปวรรณยุกต์เพิ่ม จึงมีข้อจำกัดทั้งรูปและเสียงวรรณยุกต์ เป็นการแสดงไหวพริบปฏิภาณและความแตกฉานในการใช้ภาษาไทยของผู้แต่งให้เด่นชัดยิ่งขึ้น คำประพันธ์กลอนสุภาพนิยมเล่นกันมากตั้งแต่สมัยอยุธยา จวบจนถึงปัจจุบัน ในต้นรัตนโกสินทร์นั้นงานกลอนสุภาพเด่นชัดในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเฟื่องฟูถึงขนาดมีการแข่งขันต่อกลอนสด กลอนกระทู้ ตลอดรัชสมัยมีผลงานออกมามากมาย เช่น กลอนโขน กลอนนิทาน กลอนละคร กลอนตำราวัดโพธิ์ เป็นต้น บทพระราชนิพนธ์เรื่อง เงาะป่า ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ ยังมีกวีท่านอื่นที่มีชื่อเสียง เช่น สุนทรภู่ เป็นต้น และในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็มีปราชญ์กวีทางกลอนสุภาพที่สำคัญหลายท่านเช่นกัน
กลอนแปด เป็นคำประพันธ์อีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมกันทั่วไป เพราะเป็นร้อยกรองชนิดที่มีความเรียบเรียงง่ายต่อการสื่อความหมาย และสามารถสื่อได้อย่างไพเราะ ซึ่งกลอนแปดมีการกำหนดพยางค์และสัมผัส มีหลายชนิดแต่ที่นิยมคือ กลอนสุภาพ
 ลักษณะคำประพันธ์
๑.  บท บทหนึ่งมี ๔ วรรค
วรรคที่หนึ่งเรียกวรรคสดับ      วรรคที่สองเรียกวรรครับ
วรรคที่สามเรียกวรรครอง       วรรคที่สี่เรียกวรรคส่ง
แต่ละวรรคมีแปดคำ จึงเรียกว่า กลอนแปด
๒.  เสียงคำ กลอนทุกประเภทจะกำหนดเสียงคำท้ายวรรคเป็นสำคัญ กำหนดได้ ดังนี้
          คำท้ายวรรคสดับกำหนดให้ใช้ได้ทุกเสียง
          คำท้ายวรรครับกำหนดห้ามใช้เสียงสามัญกับตรี
          คำท้ายวรรครองกำหนดให้ใช้เฉพาะเสียงสามัญกับตรี
          คำท้ายวรรคส่งกำหนดให้ใช้เฉพาะเสียงสามัญกับตรี
 ๓. สัมผัส
          ก. สัมผัสนอก หรือสัมผัสระหว่างวรรค อันเป็นสัมผัสบังคับ มีดังนี้
คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่ง (วรรคสดับ) สัมผัสกับคำที่สามหรือที่ห้า ของวรรคที่สอง (วรรครับ)
คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม (วรรครอง) และคำที่สามหรือที่ห้าของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง)
สัมผัสระหว่างบท ของกลอนแปด คือ
คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง) เป็นคำส่งสัมผัสบังคับให้บทต่อไปต้องรับสัมผัส ที่คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ)
ข.   สัมผัสใน แต่ละวรรคของกลอนแปด แบ่งช่วงจังหวะออกเป็นสามช่วง ดังนี้
หนึ่งสองสาม – หนึ่งสอง – หนึ่งสองสาม
ฉะนั้นสัมผัสในจึงกำหนดได้ตามช่วงจังหวะในแต่ละวรรคนั่นเอง ดังตัวอย่าง
อันกลอนแปด – แปด คำ – ประจำวรรค
วางเป็นหลัก – อัก ษร – สุนทรศรี
ตัวอย่างกลอนแปด
เรื่องกานท์กลอนอ่อนด้อยค่อยค่อยหัด
แม้นอึดอัดขัดใจอย่าไปเลี่ยง
ทีละวรรคถักถ้อยนำร้อยเรียง
แม้ไม่เคียงเยี่ยงเขาจะเศร้าไย
วางเค้าโครงโยงคำค่อยนำเขียน
เฝ้าพากเพียรเจียรจารนำขานไข
จะถูกนิดผิดบ้างช่างปะไร
เขียนด้วยใจใฝ่รักอักษรา
แม้ไม่เก่งเพลงกลอนยังอ่อนด้อย
แต่ใจรักถักถ้อยร้อยภาษา
แม้ถ้อยคำนำเขียนไม่เนียนตา
อย่าโมโหโกรธาต่อว่ากัน
ทุกทุกวรรคถัก-ร่ายหมายสืบสาน
ทุกอักษรกลอนกานท์บนลานฝัน
อาบคุณค่าช้านานแห่งวารวัน
เป็นของขวัญค่าล้นเพื่อชนไทย….
ที่มา http://www.tangklon.com

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ฝากถึงทุกคน......

"จิตใจสามัญ วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ ……จิตใจที่ต่ำต้อย วิพากษ์วิจารณ์เพียงคน"